บอกเล่าวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของแต่ละชนชาติ

บอกเล่าวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของแต่ละชนชาติ

สรุปบทความ

พลังของ “กาแฟ” ขับเคลื่อนและเดินทางไปทั่วโลก แต่ละชนชาติมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟแตกต่างกันไป เรามาดูกันว่า แต่ละประเทศให้คุณค่า “กาแฟ” ในแง่ไหนกันบ้าง

สัญลักษณ์การเริ่มต้นวันใหม่ของคุณทุกเช้า คืออะไรบ้างคะ

“แสงแดดรำไร เสียงนกร้องและความเร่งรีบของผู้คน”

“กาแฟ” ถืออีกเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของ “การเริ่มต้นวันใหม่” ที่ชวนอบอุ่นใจ กาแฟที่ดีมักมาพร้อมกลิ่นหอมของเมล็ดคั่วใหม่และรสชาติที่กลมกล่อมถูกใจ สำหรับเราแล้วเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นมากกว่าเครื่องดื่มทั่วไปที่ใช้ดับกระหาย กาแฟเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้ทุกๆ เช้า เราพร้อมเริ่มต้นกับอะไรใหม่ๆ อย่างสดใสและมีพลังใจ

Coffee-world

“จุดเริ่มต้น” ของกาแฟ

ย้อนกลับไปราวศตวรรษที่ 15 เครื่องดื่มสุดโปรดของใครหลายๆ คน ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกบนโลก ตามตำนานว่ากันว่า กาลดิ (Kaldi) ชายหนุ่มผู้เลี้ยงแกะเป็นอาชีพ ณ ป่าโบราณของเอธิโอเปีย สังเกตว่าแกะที่เขาเลี้ยงมักคึกคักเป็นพิเศษช่วงกลางดึก ไม่ค่อยพักผ่อนนอนหลับเหมือนดังกิจวัตรปกติ

เขาจึงเริ่มสังเกตพฤติกรรม จนเห็นว่าแกะฝูงนี้ชอบกินเมล็ดพันธุ์สีน้ำตาลชนิดหนึ่ง บวกกับว่าช่วงนั้น มีนักบวชค้นพบว่าการกินเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ ทำให้พวกเขาตื่นตัวกลางดึก มีเรี่ยวแรงสวดมนต์ตอนกลางคืนได้นานขึ้นกว่าเดิม ทำให้ “สรรพคุณ” ของเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเริ่มเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น

พลังของ “กาแฟ” เริ่มขับเคลื่อนและเดินทางไปทั่วโลก ทั้งฝั่งตะวันออก ตะวันตกไปจนถึงคาบสมุทรอาหรับ เมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ

ปัจจุบัน “กาแฟ” กลายเป็นเครื่องดื่มระดับโลก
ถึงขนาดมีการซื้อขายมากเป็นอันดับสองของโลก รองจาก “น้ำเปล่า” เท่านั้น

National Coffee Association

วัฒนธรรมการกินกาแฟของแต่ละชาติ

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กระจายไปทั่วทุกมุมโลก แต่ละชาติมี “วัฒนธรรมการกินกาแฟ” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป กาแฟในทุกวันนี้จึงไม่ได้เป็นเพียง “เครื่องดื่ม” ที่ส่งกลิ่นหอมละมุนเท่านั้น ทว่ายังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทางสังคมที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน

1. ไทย

Coffee-Thailand
Coffee-Thailand

ก่อนจะไปเริ่มที่ไหนไกล ขอเริ่มต้นที่ไทยแลนด์ของเราเป็นที่แรก สมัยที่กาแฟเริ่มเข้ามามีบทบาทกับสังคมไทย ย้อนไปราวๆ 50-100 ปีก่อน ร้าน “โกปี้” ในสมัยนั้นทำหน้าที่เสมือนจุดรวมข่าวสารของชุมชน

ความที่สมัยก่อนยังไม่มีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์จึงเป็นสื่อเดียวที่ใช้กระจายข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านจึงนิยมไปนั่งสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันที่ร้านกาแฟ ซึ่งกาแฟในช่วงแรกๆ เป็นแบบ “เอสเพรสโซ” โดยการเอาเมล็ดกาแฟไปคั่วบนกระทะเตาถ่าน หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “โอเลี้ยง” (โอแปลว่า “ดำ” และเลี้ยง แปลว่า“เย็น”)

คนไทยกับกาแฟผูกพันกันมายาวนาน ถึงแม้ว่าบทบาทของร้านกาแฟทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปจากเดิม จากร้านโกปี้อาหารเช้า ปัจจุบันถูกยกระดับให้เป็นสถานที่นั่งชิล ถ่ายรูปลงโซเชียลสวยๆ แต่ยังคงเป็นสถานที่พูดคุยที่ดีเหมือนเดิม ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย (รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย)

2. ญี่ปุ่น

Coffee-japan

กาแฟถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นครั้งแรกโดยชาวดัตช์ ในสมัยปี 1700 ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 1888 คุณ Tadao Ueshima ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟ Kahiichakan ขึ้นเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่น

ระหว่างที่กาแฟค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่ดินแดนอาทิตย์อุทัย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939) สถานการณ์กลับพลิกผัน ญี่ปุ่นกลับออกคำสั่งห้ามนำเข้า “กาแฟ” จากฝั่งตะวันตกทันที เนื่องด้วยนโยบายชาตินิยม ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่ม ต่างจาก “ร้านน้ำชา” ที่ยังได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเสมอ

“เวลาเปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยน” ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา กาแฟกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในหมู่นักธุรกิจ ชนชั้นสูงและคนรุ่นใหม่ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของ “การแบ่งชนชั้น” ไปโดยปริยาย ปัจจุบันเมืองนี้นำเข้ากาแฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในจำนวนเกือบสองแสนตัน/ปี

3. สหรัฐอเมริกา

“Coffee Socialite” สังคมการดื่มกาแฟในอเมริกา ค่อนข้างแข็งแกร่งและได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ชาวอเมริกาส่วนใหญ่มีกาแฟอยู่ในตารางชีวิตประจำวัน หลายๆ คนดื่มกาแฟมากกว่าวันละหนึ่งแก้ว ถึงขนาดมีคำกล่าวไว้ว่า

“กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชาวอเมริกัน พอๆ กับกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน
และเพลงร็อคแอนด์โรล”

Coffee-USA

ราวศตวรรษที่ 18 กาแฟกลายเป็นสินค้าที่ทำกำไรได้มากสุดในยุคนั้น นักธุรกิจหลายคนพากันเข้าสู่วงการนี้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องด้วยการบริโภคกาแฟในสมัยนั้น เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีแบรนด์กาแฟเปิดตัวขึ้น รวมถึงจุดกำเนิดของร้านกาแฟชื่อดัง “Starbucks” ที่เปิดขึ้นครั้งแรกในปี 1971 ที่เมืองซีแอตเทิล

ทุกวันนี้ธุรกิจกาแฟในประเทศนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีทั้งร้านกาแฟเล็กๆ ไปถึงแบรนด์ดังระดับโลก ชาวอเมริกาค่อนข้างให้คุณค่ากับกาแฟ และมองว่า เครื่องดื่มนี้คืองานศิลปะที่สวยงาม … กาแฟหนึ่งแก้วมีเรื่องราวและผ่านเรื่องเล่าต่างๆ มามากมาย

4. เวียดนาม

หากพูดถึง “กาแฟ” โดยไม่เอ่ยชื่อประเทศนี้ คงจะแปลกอยู่ไม่น้อย ความที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของวงการกาแฟในเอเชียแต่ไหนแต่ไร ที่สำคัญวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของเวียดนาม ค่อนข้างโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

กาแฟกับคนเวียดนาม ผูกพันกันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 สมัยที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เรื่องราวของกาแฟถูกถ่ายทอดทิ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่า ซึ่งทางเวียดนามนำสิ่งนี้มาต่อยอด ด้วยการเปิดโรงงานผลิตกาแฟขนาดใหญ่หลังจบสงคราม จนทุกวันนี้กลายเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับสองของโลก

Coffee-Vietnam

“กาแฟโรบัสต้า” คือจุดแข็งที่ทำให้กาแฟเวียดนามแตกต่างกว่าเจ้าอื่นๆ ด้วยปริมาณคาเฟอีนที่เข้มข้น ทำให้กาแฟตัวนี้มีรสชาติเข้มข้นและส่งกลิ่นหอมชัดเจน หากคุณไปเวียดนาม นอกจากจะว้าวกับการคมนาคมอันแสนวุ่นวายแล้ว ความหนาแน่นของร้านกาแฟข้างทางยังเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมหัศจรรย์ได้ใจเช่นกัน

5. บราซิล

เอ่ยถึงอันดับสองของวงการกาแฟโลกไปแล้ว จะไม่พูดถึงผู้ส่งออกเมล็ด
กาแฟ “อันดับหนึ่ง” ของโลก อย่างบราซิลได้อย่างไร โดยเฉพาะคอกาแฟหลายคนคงได้ยินกิตติศัพท์ร่ำลือกันมาอย่างดี

Coffee-Brazil

1727 คือปีแรกที่มีการปลูกต้นกาแฟขึ้นเป็นครั้งแรกในบราซิล โดยนายทหาร “Francisco de Melo Palheta” ว่ากันว่าเป็นการปลูกแบบไม่ถูกต้อง แต่นั่นก็คือปฐมบททางประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศนี้ กว่า 150 ปี ที่กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง

แม้จะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกกาแฟเป็นหลัก ทว่าพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนบราซิลไม่ค่อยโดดเด่นนัก ว่ากันว่าชาวเมืองนิยมดื่มกาแฟร้อนในถ้วยเล็กๆ โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีอะไรมากมาย พวกเขาก็ดื่มด่ำและมีความสุขได้ ถึงแม้เมล็ดกาแฟที่ใช้บางครั้งเกรดต่ำกว่าที่ส่งออกด้วยซ้ำ

สรุปท้ายบทความ

เรื่องราว “กาแฟ” ของแต่ละประเทศ มีนัยยะมากกว่าเครื่องดื่มธรรมดาทั่วไป ทั้งสัญลักษณ์ของการแบ่งชนชั้น จุดเชื่อมกันของคนในสังคม ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของบางประเทศ ฯลฯ

นอกจากนี้กาแฟยังถูกนำไปต่อยอดเป็นเมนูที่หลากหลาย ด้วยส่วนผสมและกรรมวิธีต่างๆ ที่ยกระดับให้ “กาแฟ” กลายเป็นเครื่องดื่มที่ยอดเยี่ยมมากกว่าเดิม เสมือนงานศิลปะมีชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า

“Coffee – the favorite drink of the civilized world.”

Thomas Jefferson

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial