Hum-to-search จาก Google อยากรู้ชื่อเพลงก็แค่ฮัมทำนอง

Hum-to-search จาก Google อยากรู้ชื่อเพลงก็แค่ฮัมทำนอง

“เพลงที่เปิดในรถแกวันนั้นชื่อเพลงอะไรนะ มันเพราะดีอ่ะ ที่ทำนองมัน ตือดึ๊ด ตึ๊ดดือดือ ดือดึ๊ด ตือดือดือ แบบนี้อ่ะ เพลงไร”

หากนับเป็นข้อมูลเชิงสถิติ มนุษย์เราจะมีคำตอบให้กับคำถามแบบนี้ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์กัน อย่างน้อย ถ้ามีเนื้อเพลงหรือชื่อศิลปินมาให้เดาบ้างก็คงดี แต่ครั้นจะให้มาฟังทำนองอย่างเดียว แล้วบอกว่านี่คือเพลงอะไร ถ้าไม่ใช่สาวกของศิลปินคนนี้ หรือฟังเพลงนั้นจนซึมสมองส่วนหน้า ก็ยากที่จะให้คำตอบได้ภายในทันที

ความวัวยังไม่ทันหาย พอเราจะลองค้นหาด้วยตัวเอง ก็นึกขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เรารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับเพลงๆ นั้น ก็มีแต่ทำนองที่เพิ่งฮัมให้เพื่อนฟังไป แล้วทีนี้ จะทำอย่างไร เราถึงจะรู้ชื่อเพลง

Google มาโปรด

Google ดูจะเข้าใจปัญหาข้อนี้เป็นอย่างดี (อาจเพราะมีคนในออฟฟิศ Google จำนวนมากที่เปิดการสนทนาด้วยคำถามประมาณนี้) เมื่อเร็วๆ นี้ Google ประกาศเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่มีชื่อว่า “Hum-to-search” หรือ “แค่ฮัมดู จะรู้ชื่อ(เพลง)” เพื่อช่วยคนที่อยากรู้ชื่อเพลงใจจะขาด แต่สิ่งที่ติดอยู่ในหัว มีแค่ทำนอง ไม่ใช่เนื้อร้องหรือชื่อศิลปิน

เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนหนึ่งในแอปพลิเคชัน Google และอยู่ในส่วนของผู้ช่วย (Google Assistant) เมื่อเรากดไปที่หน้าจอของผู้ช่วยแล้ว ให้เรากดเลือกไอคอนรูปไมโครโฟน จากนั้น ฮัมหรือร้อง (หรือผิวปาก) ทำนองเพลงที่เราจำได้ เป็นเวลาประมาณ 10-15 วินาที

Google Hum-to-search ฟังเพลง หาเพลง ไม่รู้ชื่อเพลง
เทคโนโลยี Hum-to-Search ของ Google
ขอขอบคุณรูปภาพจาก MacRumors

Google Assistant จะประมวลผลเสียงที่ได้ภายในเวลาแค่ชั่วพริบตา จากนั้นจะขึ้นลิสต์เพลงที่มีทำนองตรงกับทำนองที่เราร้อง และไม่ต้องกังวล ว่าต้องร้องให้ตรงกับต้นฉบับถึงจะได้คำตอบ เพราะ Google จะบอกเรา ว่าเพลงในลิสต์มีทำนองตรงกันกับที่เราร้องกี่เปอร์เซ็นต์ พร้อมบอกข้อมูลของศิลปิน หรือฟังเพลงเพิ่มเติมในอัลบั้มนั้นๆ

แม้ว่าตอนนี้ Hum-to-search ยังไม่เปิดรองรับภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่า ภายในอนาคตอันใกล้ พวกเราจะสามารถฮัมทำนองเพลงไทยเพื่อค้นหาชื่อเพลงได้อย่างแน่นอน

รู้ไว้ใช่ว่า Hum-to-search ทำงานอย่างไร

การทำงานของ Hum-to-search ยากและสลับซับซ้อน แต่หากให้พูดกันแบบเข้าใจง่าย เราจะเปรียบทำนองที่เราร้องเป็นลายนิ้วมือ

ลายนิ้วมือของแต่ละคนมีรูปแบบและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ลายนิ้วมือจำนวนไม่น้อยมีความใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับทำนองเพลง Google เพียงออกแบบเทคโนโลยีที่ตรวจสอบความใกล้เคียงของทำนองเพลง และแสดงผลเฉพาะทำนองที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุดกับทำนองที่เราร้องออกมา

การจะทำเช่นนี้ได้ Google จำเป็นต้องถอดทำนองของเพลงต่างๆ บนโลกนี้ (เกือบทุกเพลงละกัน) ออกเป็นรหัสตัวเลขและเก็บไว้ในฐานข้อมูล ไม่เพียงแต่ทำนองปกติเท่านั้น แต่รวมถึงการสั่นสะเทือนของเสียง (Timbre) ระดับของเสียง (Tone) หรือกระทั่งชนิดของเครื่องดนตรีในเพลง (Intrument)

Google Hum-to-search Coding ฟังเพลง หาเพลง ไม่รู้ชื่อเพลง
ระบบจะถอดเพลงให้กลายเป็นรหัสไว้ใช้ภายหลัง
ขอขอบคุณวิดีโอจาก Google

จากนั้น พวกเขาออกแบบเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งก็คือ Hum-to-search เมื่อเราฮัมหรือร้องทำนอง เสียงของเราจะถูกถอดออกเป็นรหัสตัวเลขเช่นกัน ก่อนที่จะถูกเอาไปเปรียบเทียบกับเพลงต่างๆ ในระบบ ข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด (หรือรหัสตัวเลขเหมือนกันมากที่สุด) จะถูกแสดงผลเป็นเพลงที่ตรงกับเสียงฮัมของเรา

อาจฟังดูเข้าใจยาก (ก็เข้าใจยากจริงๆ) แต่เทคโนโลยีนี้อยู่กับเรามานานแล้ว (อย่างน้อยก็เกือบ 20 ปี) ในรูปแบบของการตรวจจับความถี่ของเสียง ตัวอย่างแรกอาจฟังดูเก่าเกินไป ถ้างั้น หลายคนคงรู้จัก Shazam หรือ Soundhound ซึ่งต่างก็ใช้เทคโนโลยีนี้ในการค้นหาเพลงทั้งสิ้น

เพียงแต่ว่า นี่เป็นครั้งแรก ที่เราสามารถค้นหาชื่อเพลง ไม่ใช่จากเสียงร้อง หรือเพลงที่กำลังเปิด แต่แค่ใช้การฮัมของเราเท่านั้น ถือเป็นอะไรที่น่าสนใจ ที่เทคโนโลยีการตรวจจับเสียงเพลงได้ก้าวไปอีกขั้นแล้ว

ลองใช้เองแล้วเป็นอย่างไร

ด้วยความสงสัย ผมจึงลองเปิดโทรศัพท์มือถือของผม เข้าไปที่แอปพลิเคชัน Google เพื่อทดสอบ Hum-to-search เพลงที่ผมเลือกฮัมทำนองคือ Baby Shark และ La La La ของ Sam Smith

ต้องยอมรับว่าทักษะการร้องเพลงของผมอยู่ในระดับ “เรี่ยดิน” แต่ Google สามารถตรวจจับทำนองที่ผมร้องได้ถูกต้องและแม่นยำ โดยแสดงผลเพลงทั้งสองนี้ในอันดับแรกเสมอ ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่แม่นยำ ไว้วางใจได้ในเวลาที่ต้องการใช้งาน

จุดเด่นที่ผมรู้สึกได้คือ เรื่องของความเร็ว ผมใช้เวลาเพียง 10 วินาทีในการฮัมทำนอง จากนั้น Google ก็สามารถค้นหาชื่อเพลงได้ทันที

หวังว่าจะเป็นประโยชน์

ต่อจากนี้ เวลาที่เราต้องการรู้ชื่อเพลง ก็แค่เปิด Google ขึ้นมา และฮัมทำนองสักวรรคสองวรรค เราก็จะได้ชื่อเพลง พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ยาก เป็นอีกครั้งที่เทคโนโลยีตอบโจทย์เราได้อย่างลงตัว ก็ได้แต่หวังว่า เพลงไทยจะได้รับการใส่เข้าไปในระบบเร็วๆ นี้ 

Kaidee ก็เหมือน Hum-to-search หากคุณไม่มีข้อมูลสินค้า หรือไม่รู้ว่าจะซื้อหาอะไรดี กดมาที่ Kaidee ที่เดียว รู้เรื่องและตอบทุกความต้องการของคุณ

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial