Somdul Agroforestry Home บ้านริมน้ำ วนเกษตร และคาเฟ่สุดชิล

Somdul Agroforestry Home บ้านริมน้ำ วนเกษตร และคาเฟ่สุดชิล

บรรยากาศบ้านริมน้ำและวิถีชีวิตริมแม่น้ำแม่กลองที่มองจากท่าน้ำของ Somdul Agroforestry Home

พูดถึงวิถีชีวิตริมน้ำหรือบรรยากาศความร่มรื่นของบ้านริมน้ำ เชื่อว่าหนึ่งในโลเคชันที่หลายๆ คนนึกถึงน่าจะมี “แม่น้ำแม่กลองแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม” อย่างแน่นอน เพราะตลอดสองฝั่งแม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยบ้านริมน้ำน้อยใหญ่ บ้านเก่าดั้งเดิมสลับบ้านโมเดิร์นสร้างใหม่ ผสมผสานการใช้สอยทั้งที่เป็นบ้านพักอาศัยและพื้นที่ธุรกิจอย่างคาเฟ่และโฮมสเตย์ จนกลายเป็นเสน่ห์ของเมืองสามน้ำที่หลายคนปักหมุดจะไปเยือน

Somdul Agroforestry Home เป็นหนึ่งในบ้านริมน้ำที่สามารถดื่มด่ำความงามของแม่น้ำแม่กลองตลอดทั้งวัน ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจากหนึ่งในคีย์หลักของกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ช่วยกันสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้  “เอี่ยม – อติคุณ ทองแตง” มาเป็นตัวแทนเล่าเรื่องราวของศูนย์เรียนรู้ด้านวนเกษตรและคาเฟ่นั่งสบายแห่งนี้

บ้านริมน้ำตากอากาศสู่วนเกษตรแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

ก่อนที่จะเป็น Somdul Agroforestry Home ที่เปิดต้อนรับทุกคนในวันนี้ ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นบ้านริมน้ำตากอากาศของครอบครัวทองแตง ซึ่งคุณพ่อของเอี่ยมซื้อไว้ตั้งแต่เอี่ยมยังไม่เข้าโรงเรียนประถมด้วยซ้ำ 

อาณาเขตของบ้านริมน้ำมีพื้นที่กว่า 15 ไร่ บริเวณทางเข้าที่ติดถนนหลักสายเดียวกับที่ใช้มาตลาดน้ำอัมพวาเต็มไปด้วยต้นสักสูงชะลูดซึ่งถูกไว้ตั้งแต่สมัยเจ้าของเก่า ผสมผสานกับร่องสวนมะพร้าวและส้มโอ อันเป็นภาพชินตาหากใครมาเที่ยวสมุทรสงครามบ่อยๆ ส่วนพื้นที่ด้านในที่ติดกับแม่น้ำแม่กลองถูกจัดสรรให้เป็นโซนพักอาศัย 

เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง กับเจ้าบาน๊อฟฟี่ สุนัขขี้อ้อนที่พร้อมต้อนรับทุกคนสู่ Somdul Agroforestry Home

เอี่ยมเล่าจุดเริ่มต้นของการปรับบ้านริมน้ำที่เคยพักอาศัยมาเป็น Somdul Agroforestry Home ว่า

“ที่จริงส่วนที่เป็นคาเฟ่ เราไม่มีแพลนที่จะทำตั้งแต่แรก เราต้องการทำเกษตรมากกว่า เพราะกลุ่มเพื่อนที่ร่วมกันทำที่นี่ต่างเป็นนักอนุรักษ์ เป็นอาสาไปช่วยงานด้านการอนุรักษ์ตั้งแต่มหาวิทยาลัย เวลาเราไปอยู่ในป่า เราสัมผัสถึงอุณหภูมิที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นสิงสาราสัตว์ เห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เห็นการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ เลยเป็นแพชชันของกลุ่มว่า เราอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม” 

อาคารหลังคาทรงจั่วดูกลมกลืนไปกับบริบทของวนเกษตร

ซึ่งแม้เอี่ยมจะเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ แต่ด้วยความสนใจทำให้เขาและเพื่อนๆ ต่อยอดความรู้เกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งอบรมศาสตร์พระราชากับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เรียนรู้เกษตรจากปราชญ์ชาวบ้าน และเข้าไปศึกษาดูงานอีกหลายที่ จนจบลงด้วยการตัดสินใจทำ “วนเกษตร” ซึ่งได้แรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากบ้านสวนออนซอนของพ่อเลี่ยม บุตรจันทรา

“คอนเซ็ปต์ของ Somdul Agroforestry Home ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ ธรรมชาติ สุขภาพ และการพึ่งพาตนเอง เราให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่ง ทุกอย่างที่ทำต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ของที่เรากินเราใช้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งหากเราทำได้สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องของสุขภาพ เพราะเราไม่เอาเคมีเข้าสู่ร่างกาย”

วนเกษตร คือ ระบบเกษตรกรรมที่ทำในพื้นที่ป่าและการสร้างระบบเกษตร ให้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศป่าธรรมชาติ เช่น ปลูกพืชแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ นำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า เก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่ Somdul Agroforestry Home ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในสวนของตัวเอง

ดีไซน์วนเกษตรให้เหมาะกับชาวสวนบ้านริมน้ำ

เอี่ยมบอกกับเราว่า หลักการทำกสิกรรมยั่งยืนหรือการทำวนเกษตรนั้น จะต้องไม่ปรับเปลี่ยนอะไรที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้นการดีไซน์พื้นที่วนเกษตรของ Somdul Agroforestry Home จึงยังคงอยู่ในบริบทของชาวสวนบ้านริมน้ำที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ 

“เราไปเรียนมาหลายอย่าง แต่สุดท้ายต้องกลับมาดูพื้นที่ของเราว่ามีอะไรบ้าง แล้วจึงต่อ ยอดทางนั้น อย่างของเรามีร่องสวนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ดีมากอยู่แล้วในการบริหารจัดการพืชสวนให้เขามีระบบน้ำที่สมบูรณ์ ทำให้พืชอยู่ได้ด้วยตัวเองและสร้างผลผลิตได้ดีตรงนี้เราก็เก็บไว้และพัฒนาให้ดีขึ้น หรืออย่างป่าสักด้านหน้าหรือต้นไม้ใหญ่ที่เรามี เราไม่ทำอะไรเลย แต่ใช้การปลูกเพิ่มเพื่อให้มันเกิดระบบนิเวศน์แบบป่า ตรงไหนว่างเราก็เอาไม้ใช้ประโยชน์อย่างไม้เนื้อแข็งมาลง เน้นปลูกครบไม้ 5 ระดับ สูง กลาง เตี้ย เรี่ย และไม้หัวใต้ดิน ตามหลักป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง”

ทางเข้าล้อมด้วยต้นสักอายุมากกว่า 30 ปี แทรกด้วยร่องสวนตามวิถีชีวิตดั้งเดิม

เอี่ยมยังโชว์ให้เราเห็นถึงการผสมผสานของต้นไม้ระดับต่างๆ ที่สามารถปลูกในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าแล้วสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นต้นโกโก้ กาแฟ พืชสมุนไพร อย่างพิลังกาสา ชะวง เอื้องหมายนา โปร่งฟ้า อ่อมแซ่บ ผักสวนครัวต่างๆ ฯลฯ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันกับผึ้งชันโรงที่ช่วยให้ระบบนิเวศเล็กๆ ของอดีตบ้านริมน้ำแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

การทำวนเกษตรในบริบทของบ้านริมน้ำ เอี่ยมบอกว่าค่อนข้างยาก เพราะสภาพแวดล้อมแทบไม่ตรงกับในตำราที่ร่ำเรียนมาเลย อีกทั้งยังต้องอาศัยเวลาทำความรู้จักพื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“อย่างของกสิกรรมธรรมชาติเขาพูดเรื่องโคกหนองนา แต่พื้นที่ของเราเป็นที่ดินติดน้ำ เป็นร่องสวน เราจะขุดหนองทำไมในเมื่อมีน้ำอยู่รอบๆ เต็มไปหมด แต่ถึงเราไม่ต้องห่วงเรื่องไม่มีน้ำก็ต้องระวังเรื่องน้ำเค็ม เพราะช่วงหลังๆ มาน้ำทะเลหนุนมาถึงแถวนี้เลย ซึ่งเราต้องทำเขื่อนกักน้ำ หรือดึงน้ำขึ้นมาเก็บใส่ถังไว้ใช้ยามที่น้ำเค็ม แล้วก็ใช้เครื่องวัดความเค็มเข้ามาช่วย ไม่ต้องชิมน้ำเหมือนสมัยก่อน”

ดังนั้นการทำเกษตรจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่ รู้จักเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสม รวมไปถึงประยุกต์ความรู้ยิบย่อยเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บ้านของผึ้งชันโรงมีอยู่ทั่วเขตบ้านริมน้ำ ซึ่งเอี่ยมเล่าว่าผึ้งนั้นเซ็นซิทีฟต่อยาฆ่าแมลงมาก หากสวนหรือฟาร์มไหนมีผึ้งอยู่อาศัยแล้วล่ะก็ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีได้เลย

เปลี่ยนบ้านริมน้ำให้กลายเป็นคาเฟ่สไตล์ Farm-to-Table

“พอเริ่มทำวนเกษตรได้พักหนึ่งก็ถึงจุดที่ว่าเราอยากทำให้มันเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย ให้คนอื่นได้เข้ามาเห็นเหมือนที่เราเคยไปดูจากหลายๆ ศูนย์ โดย Somdul Agroforestry Home ทำหน้าที่เป็นบันไดเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองที่เหมือนกับเราทั้งหกคนอยู่ในเมืองทั้งหมดเลยแล้ว กับคนที่สนใจอยากทำเกษตรที่ยังอาจไม่เข้าใจ หรือไม่มี Know-How หรือไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ มาแลกเปลี่ยนกัน ให้คำแนะนำที่เรารู้ หรือแนะนำต่อเพื่อให้เขาได้คำตอบจากผู้รู้จริงๆ”

ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาจึงมีการปรับปรุงบริเวณบ้านริมน้ำให้เป็นคาเฟ่สวย โดยสร้างอาคารหลังคาทรงจั่วสูงเพิ่มขึ้น 1 หลังเป็นผลงานออกแบบจากสถาบันอาศรมศิลป์ และต่อเติมบ้านริมน้ำหลังเดิมให้ทันสมัยและรองรับการใช้งานได้มากขึ้น 

มุมนั่งสบายท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ของคาเฟ่สไตล์บ้านริมน้ำ

บรรยากาศคาเฟ่ของ Somdul Agroforestry Home เป็นไปอย่างเรียบง่าย ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน รวมไปถึงอิ่มอร่อยกับอาหารสไตล์ Farm-to-Table ที่พวกเขาตั้งใจปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก

“เดิมทีหน้าบ้านริมน้ำจะเป็นสระว่ายน้ำและก็ถูกทิ้งร้างเป็นบ่อบัวอยู่พักใหญ่ ตอนรีโนเวทเราคิดหนักมากว่าจะเก็บบ่อไว้หรือทำอย่างไรดี สุดท้ายเราตัดสินใจทำบ่อให้แตกเผื่อต้นไม้จะไชรากต่อได้ และถมดินลงไปเพื่อทำเป็นแปลงผักสาธิตให้คนที่มาได้เรียนรู้ รวมถึงเอามาปรุงเป็นอาหารเสิร์ฟในร้านด้วย” 

เอี่ยมยังการันตีความสดใหม่ของอาหาร Farm-to-Table ด้วยเมนูที่ต่อยอดจากสิ่งที่มีในวนเกษตรของเขาบวกกับความสามารถที่ทำได้ดีจนสร้างสรรค์เป็นเมนูซิกเนเจอร์จากวัตถุดิบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมนูจากน้ำผึ้งชันโรงกับ “Stingless Bee Honey and Cold Brew” ไข่สดจากแม่ไก่ที่เลี้ยงอยู่ในป่าสัก มะพร้าวน้ำหอมจากโซนร่องสวน รวมไปถึงไอศกรีมกะทิที่คั้นสดจากมะพร้าวแกงที่เพิ่งตัดภายใน 1 วัน 

“เราได้มะพร้าวเป็นลูกตอนเช้าแล้วเอามาปั้นคั้นแล้วทำเป็นไอศกรีมตอนเย็น เพราะฉะนั้นไอศกรีมจะเสร็จภายใน 1 วัน จึงสดมาก มันเลยเป็นสิ่งที่เราภูมิใจนำเสนอ ถ้าถามว่ามีร้านไหนขายไอศกรีมสดเท่าเรานี่อาจจะมีนะ แต่ถ้าชนะเรานี่หาได้ยาก เพราะถ้าไม่มีสวนเองทำไม่ได้อยู่แล้ว ซื้อที่ตลาดยังไงของก็พักค้างคืนมาวันหนึ่งแล้ว เรียกว่าเป็นไอศกรีมมะพร้าวออแกนิคมากและเรายังพัฒนาสูตรโดยหาเบลนด์กาแฟมาทำเป็น Affogato ซึ่งการทำกาแฟของสมดุลก็เป็นเรื่องที่ลงลึก เพราะตรงกับคอนเซ็ปต์วนเกษตร และเรายังหลงใหลเสน่ห์ของกาแฟที่มีทั้งกลิ่นและรสชาติให้ลิ้มลองไม่แพ้ไวน์เลยทีเดียว”

เปลี่ยนสระว่ายน้ำประจำบ้านริมน้ำให้กลายเป็นแปลงผักสวนครัว

Somdul Agroforestry Home บ้านริมน้ำ วนเกษตร และคาเฟ่สุดชิล

เรียกว่ามาที่เดียวได้ครบ ทั้งบรรยากาศสุดชิลของคาเฟ่บ้านริมน้ำและความรู้ด้านวนเกษตร ซึ่ง Somdul Agroforestry Home ยังคงพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ ผ่านเวิร์คช้อปต่างๆ เช่น การเลี้ยงผึ้งชันโรง ปลูกผักสลัด เวิร์คช้อปกาแฟ ไปจนถึงการฟื้นฟูนกนักล่า (นกแสก) เพื่อหวังในการลดประชากรหนูโดยไม่ต้องใช้ยาเบื่อ เป็นต้น 

โดยเอี่ยมบอกกับเราว่าพื้นที่แห่งนี้เปิดต้อนรับทุกคน แม้ความตั้งใจแรกจะเข้ามาเพราะเห็นภาพคาเฟ่สวยๆ  แต่ถ้าเข้ามาแล้วเขาได้สัมผัสกับความร่มรื่น รู้สึกว่ามีต้นไม้เยอะๆ แบบนี้ดี หรือเด็กๆ มาแล้วได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ได้เข้าไปเก็บไข่และรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน หรือมีคนสนใจมาแลกเปลี่ยนจนสร้างแรงบันใจให้เขาเหล่านั้นไปพัฒนาพื้นที่สีเขียวในบ้านของตัวเอง ก็เท่ากับเป็นผลกำไรความสุขของศูนย์เรียนรู้อย่าง “Somdul Agroforestry Home” ที่จะสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ด้วยความเกื้อกูลและยั่งยืน

สำหรับใครที่อยากเป็นเจ้าของบ้านริมน้ำบรรยากาศดีสไตล์ Somdul Agroforestry Home หรือบ้านพร้อมที่ดินขนาดใหญ่เหมาะสำหรับทำวนเกษตร สามารถค้นหาเพิ่มเติมกับ  Kaidee Property กันได้เลย เรามีหลากหลายทำเลให้เลือกจนพอใจ

Somdul Agroforestry Home 

ที่อยู่ : 9 หมู่ 2 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

โทร : 09 8362 9894

Facebook: www.facebook.com/somdulhome/

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial